โค้ชชิ่งกับธุรกิจยุคดิจิตัล

ธุรกิจจะก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิตัลได้ บุคลากรต้องเติบโตเท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น 

“ทุกคนต้องการโค้ช”

เอริก ชมิดด์

อดีต ซีอีโอ บริษัท กูเกิล

      “ทุกคนต้องการโค้ช.. เราทุกคนต้องการคนที่ให้ feedback นั่นคือวิธีการที่เราใช้พัฒนาตัวเอง”

บิล เกตส์

ผู้ก่อตั้ง บริษัท ไมโครซอฟท์

 

โค้ชชิ่งคืออะไร?

         The International Coach Federation (ICF) ได้ให้คำนิยามของคำว่า “coaching” คือ ความร่วมมือระหว่างโค้ชและผู้ที่ได้รับการโค้ช โดยมีขั้นตอนและกระบวนการ รวมถึงมีการท้าทายเชิงความคิด เพื่อเป็นการจุดประกายให้ผู้ที่ได้รับการโค้ช ได้เห็นโอกาส และเกิดแรงบันดาลใจในการใช้ศักยภาพที่แท้จริงของตน เพื่อสร้างความสำเร็จทั้งในด้านส่วนตัวและในหน้าที่การงาน

การโค้ชกับธุรกิจ
         ปัจจุบันธุรกิจในสาขาต่างๆ ในประเทศไทยให้ความสำคัญในการนำโค้ชชิ่งมาใช้ในการบริหารบุคลากรมากขึ้น เพราะกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น จากอดีตในยุคเกษตรกรรมที่มีรูปแบบการทำงานที่เรียบง่าย ถัดมาเป็นยุคอุตสาหกรรมที่มุ่งใช้แรงงานในการผลิตโดยมุ่งเน้นการผลิดให้ได้ปริมาณที่มากเพื่อลดต้นทุน ลักษณะในการบริหารงานในยุคเหล่านี้จึงเป็นการชี้แนะ บอก หรือที่เรียกว่า Directive มากกว่า

         จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันที่เป็นยุคดิจิทัล ยุคข้อมูลความรู้ ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว บุคลากรในปัจจุบันจึงต้องใช้ความรู้ในการทำงานมากขึ้น  (Knowledge Worker) จึงทำให้การบริหารจัดการ Knowledge Worker มีความจำเป็นต้องใช้การสร้างความสัมพันธ์ การโน้มน้าว การช่วยให้บุคลากรได้ใช้ศักยภาพของตนเอง คิดเป็นทำเป็น ปรับตัวและก้าวทันการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่ผู้บริหารใช้การบอก หรือชี้แนะ

          ปัจจุบัน หัวหน้างานจึงต้องนำทักษะในการโค้ชมาใช้มากขึ้น ตามสภาวะธุรกิจในปัจจุบันที่มีความซับซ้อนและไม่แน่นอน หัวหน้าต้องพึ่งพาลูกน้องที่ทำงานนั้นเป็นอย่างมาก เพราะลูกน้องทำงานอยู่ที่หน้างานจริงๆ ทำให้เขาเป็นคนที่รู้จักงานนั้น ในการที่หัวหน้าจะนำพาทีมไปสู่ความสำเร็จในธุรกิจได้ หัวหน้าต้องเชื่อว่าลูกน้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของตัวเอง มีความคิด ความรู้ ความสามารถ ที่เพียงพอในการที่จะนำตัวเองให้บรรลุเป้าหมายของงานและประสบความสำเร็จในชีวิตได้ ดังนั้น ปัจจุบัน โค้ชชิ่งจึงเป็นทักษะที่สำคัญของหัวหน้างานที่นำมาใช้ในการบริหารทีม

หน้าที่ของโค้ช คือ

  • ค้นหาสิ่งที่โค้ชชีต้องการบรรลุผลให้ชัดเจน และช่วยเขาให้ไปสู่จุดนั้น
  • สนับสนุนเขาให้เขาได้ค้นพบตัวเอง
  • ช่วยเขาให้ได้คิด ค้นหาคำตอบ และกลยุทธ์ต่างๆ ออกมาด้วยตัวเอง
  • ให้เขามีความรับผิดชอบต่อตัวเอง ทั้งทางความคิดและการลงมือทำ

           โค้ชชิ่งไม่ใช่การสอนงาน แนะนำ หรือให้คำปรึกษา แต่เป็นการพัฒนาบุคลากรให้สามารถปลดปล่อยศักยภาพของตน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ชัดเจน

กลุ่มคนที่มักจะได้รับโค้ช

ที่ผ่านมาคนที่มักจะได้รับการโค้ชมี 3 กลุ่มหลักๆ คือ

กลุ่มที่ 1 ผู้บริหารระดับสูง: ผู้บริหารเห็นคุณค่าของการที่มีใครสักคนซึ่งเขาไว้วางใจได้ และพูดคุยปัญหากังวลใจต่างๆอีกทั้งผู้บริหารไม่ค่อยมีเวลาหรือไม่อยากเข้าร่วมโปรแกรมพัฒนาผู้นำที่ต้องใช้เวลานานเกินไป

กลุ่มที่ 2 พนักงานที่มีศักยภาพสูง คนที่มีศักยภาพในการก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารนั้น การโค้ชจะช่วยสร้างสภาวะผู้นำให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

กลุ่มที่ 3 พนักงานที่ต้องปรับปรุงตัว เพื่อแก้ไขปัญหาร้ายแรงไม่ว่าจะเป็นมนุษยสัมพันธ์หรือผลงาน โค้ชชิ่งช่วยให้เขารักษางานที่ทำไว้ได้ หรือเป็นที่พึ่งสุดท้ายเพื่อไม่ให้ถูกไล่ออก

อย่างไรก็ตาม บริษัทต่างๆ ได้ตระหนักว่า พนักงานจำนวนมากได้รับประโยชน์จากการโค้ชชิ่งเช่นกัน ในขณะที่หลักสูตรการอบรมต่างๆ มักครอบคลุมเนื้อหาและทักษะโดยทั่วไป แต่โค้ชชิ่งแตกต่างตรงที่มุ่งเน้นที่การพัฒนาซึ่งจำเป็นสำหรับแต่ละคนอย่างชัดเจนและเจาะจง 

อ้างอิง “Untold Stories of Executive Coaching in Thailand” (เกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย/ ชอง-ฟรองซัวส์ คูแซง/ พจนารถ ซีบังเกิด/ อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา)

“โค้ชชิ่ง ให้ถึงแก่นด้วยเอ็นเนียแกรม” (ดร. จินเจอร์ ลาพิด-บ็อกดา)

 

  โดยนงพร แสงพรหมฉาย
          (โค้ชหลิว)

 

แบบฟอร์มติดต่อกลับ

Visitors: 74,382