การสื่อสารในองค์กร (Effective Communication)

การสื่อสารในองค์กร (Effective Communication)

 ปากเป็นเอกเลขเป็นโทโบราณว่า            หนังสือตรีมีปัญญาไม่เสียหลาย

   ถึงรู้มากไม่มีปากลำบากกาย            มีอุบายพูดไม่เป็นเห็นป่วยการ

                                           พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ 6

         “บอกแล้วทำไมไม่จำ” “อธิบายยังไม่ชัดเจนอีกหรือ” “แค่นี้ทำไมไม่เข้าใจอีกนะ” จากคำพูดด้านบนคิดว่าหลายคนทั้งที่ทำงานในองค์กรหรือในชีวิตประจำวันคงเคยประสบพบเจอมาอย่างแน่นอน ไม่ในฐานะคนสื่อสาร ก็ในฐานะคนรับสาร หลายครั้งเราในฐานะผู้ส่งสารก็ได้รับคำบอกจากคนรับสาร (Feedback) ว่า อธิบายไม่ค่อยรู้เรื่อง เข้าใจยาก  ช่วยอธิบายช้าๆ อีกครั้งได้ไหม  เป็นต้น ทั้งๆ ที่เราก็มั่นใจว่าเราสื่อสารได้ดีแล้ว และหลายครั้งเราในฐานะผู้รับสารก็ไม่สามารถเข้าใจถึงสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารออกมาได้ครบถ้วนหรือเข้าใจได้เช่นเดียวกัน  เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาของการสื่อสาร  ยิ่งการสื่อสารในองค์กรด้วยแล้ว นับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะการสื่อสารที่ไม่ถูกต้อง  ไม่ชัดเจน  โดยคิดว่าผู้รับสารน่าจะเข้าใจได้เอง  ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กรตามมาอย่างมากมาย เช่น เกิดความขัดแย้งของคนระหว่างแผนก เพื่อนร่วมงานในหน่วยงานเดียวกัน ตลอดจนผู้บริหารในฐานะตัวแทนองค์กรกับพนักงาน  และนำไปสู่ความล้มเหลวขององค์ไปเลยก็มี

เมื่อเป็นเช่นนั้น เรามาคุยกันว่า การสื่อสาร ที่หลายคนมองว่า เป็นเรื่องง่ายๆ เรารู้จักมาตั้งแต่เกิดไม่ว่าการพูด การฟัง หรือ การส่งสารรับสาร  นั้นเป็นอย่างไร  การสื่อสารนั้นประกอบไปด้วย 4 องค์ประกอบด้วยกัน คือ

  1. ผู้ส่งสาร มีหน้าที่ในการนำพาสารที่ต้องการให้ผู้รับสารเข้าใจถึงเนื้อหาสาระ เพื่อให้รับรู้ เข้าใจ ตลอดจนนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องครบถ้วนตามที่ตัวเองคาดหวัง
  2. ผู้รับสาร  คือ ผู้ที่รับสารจากผู้ส่งสารไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผ่านกระบวนการสื่อสารแบบ 3V (Visual= กิริยาท่าทาง, Vocal= น้ำเสียง, Verbal= เนื้อหา/คำพูด)
  3. สารที่จะส่ง ตัวเนื้อหาที่จะส่งจากผู้ส่งสารถึงผู้รับสาร ซึ่งจะต้องมีความชัดเจน ไม่กำกวม ไม่ต้องตีความมาก
  4. กระบวนการหรือวิธีการในการส่ง เป็นช่องทางสำหรับการส่งสารไม่ว่า จะเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น โทรศัพท์  อีเมล ไลน์  เป็นต้น หรือช่องทางตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นนกพิราบสื่อสาร  ม้าเร็ว  จดหมาย  เป็นต้น

           ดังนั้น การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้องค์กรนั้นลดความขัดแย้งจากการไม่เข้าใจกัน  เกิดการเข้าใจกันระหว่างเพื่อนร่วมงาน  การประสานงานระหว่างแผนกเป็นไปด้วยความราบรื่น  และแม้ผู้บริหารระดับสูงกับพนักงานก็เช่นเดียวกัน  เพราะทุกความสำเร็จของการทำงานไม่ว่าจะเป็นระดับไหนก็ตามล้วนมีการสื่อสารเป็นเครื่องมือร้อยเชื่อมอยู่เสมอ  อย่างไรก็ตามความท้าทายขององค์กรส่วนใหญ่ก็คือทำอย่างไรจะทำให้ทุกคนในองค์กรมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ  ควรจะเริ่มที่ตรงไหน และเริ่มกับใครเป็นอันดับแรก  และจะรู้ได้อย่างไรว่า การสื่อสารที่เราสื่อสารออกไปนั้นจะบรรลุผลอย่างที่เราต้องการ

           ในเรื่องนี้ ผู้เขียนมีคำแนะนำว่า หากเราต้องการพัฒนาการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพไม่ว่าจะในฐานะผู้ส่งสารและผู้รับสาร  จะต้องนำเครื่องมืออีกตัวหนึ่งเข้ามาช่วย นั่นคือ “การถาม”  เพราะในฐานะผู้ส่งสาร เราจะถามเพื่อตรวจสอบว่า ข้อมูลที่เราส่งไปนั้น ผู้รับสารเข้าใจตรงกับที่เราต้องการไหม ด้วยการถามว่า “เข้าใจว่าอย่างไร รบกวนทวนให้ฟังด้วยครับ/ค่ะ”  และในขณะเดียวกันในฐานะผู้รับสารเราจะใช้คำถามเพื่อตรวจสอบว่าสิ่งที่เราได้ยินหรือรับมานั้นตรงตามที่ผู้ส่งสารต้องการหรือไม่  ด้วยการถามว่า “ผม/ดิฉัน เข้าใจว่าอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่” เป็นต้น  แล้วท่านผู้อ่านหละครับ เคยใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการสื่อสารหรือเปล่า

Visitors: 74,224