ผู้นำกับการบริหารทีมงาน 
“ภาวะผู้นำ” คือ การกระทำ ไม่ใช่ตำแหน่ง
Leadership is Action, Not Position

Donald H. McGannon

         ผู้นำ  เป็นตำแหน่งที่ทุกองค์กรจะต้องมีหากว่ามีเป้าหมายคือการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน โดยผู้นำมีหลายระดับ เริ่มตั้งแต่ล่างสุดเรียกว่าผู้นำระดับต้น  ระดับกลาง และระดับสูง หน้าที่ของผู้นำ คือ การทำงานที่ตนเองได้รับมอบหมายจากองค์กรให้บรรลุเป้าหมายตามที่องค์กรคาดหวัง  และการไปถึงเป้าหมายนั้นผู้นำไม่สามารถทำได้แต่เพียงคนเดียว  ทีมที่อยู่ภายใต้การนำของผู้นำนั่นเองที่มีส่วนในการบรรลุเป้าหมาย  เมื่อเป็นเช่นนั้นความท้าทายจึงมาตกอยู่ที่ผู้นำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะหากไม่สามารถบริหารงานทีมงานได้  ก็เป็นเรื่องยากที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้   การที่จะนำพาลูกทีมไปบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ผู้เขียนขอแบ่งผู้นำออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ

        1. ผู้นำที่ชนะแต่ทีมแพ้  หมายถึง ผู้นำที่สามารถบรรลุเป้าหมายที่องค์กรตั้งไว้ ตรงตามความคาดหวัง แต่ลูกน้องในทีมไม่มีความสุข มีการลาออกของลูกทีมบ่อย  บรรยากาศในการทำงานเป็นไปด้วยความเคร่งเครียด  ตัวผู้นำเองก็มุ่งแต่เป้าหมายของหน่วยงานเป็นหลัก โดยไม่สนใจว่าสมาชิกในทีมจะเป็นอย่างไร  ขอเพียงตนเองบรรลุเป้าหมายเป็นพอ หลายคนจึงเรียกผู้นำแบบนี้ว่า ผู้นำที่ใช้แต่พระเดช ในการทำงาน  ใช้การลงโทษเป็นเครื่องมือในการทำงาน  ความกลัวของลูกทีมเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงในการไปสู่เป้าหมาย

        2. ผู้นำที่แพ้แต่ทีมชนะ  หมายถึง ผู้นำที่ได้ใจลูกน้อง เรียกว่า ขวัญใจมหาชน  ใจดี  ยอมทำงานหนักเพียงคนเดียวเพื่อให้ลูกน้องรัก เพื่อเป็นขวัญใจของลูกน้อง ผู้นำแบบนี้สมาชิกในทีม จะไม่ค่อยลาออก บรรยากาศในการทำงานดี  ผ่อนคลาย  แต่ทุกสิ่งทุกอย่างจะมารวมกันที่ผู้นำ และกว่าจะบรรลุเป้าหมายที่องค์กรคาดหวังได้ เหนื่อยสายตัวแทบขาด สู้จนหมดแรง หากไม่ไหวก็จะพาตัวเองออกจากองค์กรไปเอง เพราะเหนื่อยกับการทำงานให้บรรลุเป้าหมายนั่นเอง หลายคนเรียกผู้นำประเภทนี้ว่า ผู้นำที่ใช้แต่พระคุณ ในการทำงาน  และ

        3. ผู้นำที่ชนะและทีมชนะ  ผู้นำประเภทนี้ เป็นที่ต้องการขององค์กรมากที่สุด แต่ก็หายากมากที่สุด เพราะผู้นำแบบนี้เป็นเจ้าของสโลแกนว่า “งานได้ผล คนเป็นสุข” กล่าวคือ งานที่องค์กรมอบหมายก็บรรลุเป้าหมาย และสมาชิกในทีมก็มีความสุข บรรยากาศในการทำงานอบอวลไปด้วยความอบอุ่น  ผ่อนคลาย  มีความสุข มีแต่คนอยากมาร่วมงานด้วย ผู้นำประเภทนี้จะต้องมีภาวะผู้นำที่สมบูรณ์พร้อมและใช้ภาวะผู้นำในการชักชวนเชื้อเชิญพัฒนา ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้สมาชิกในทีม เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายด้วยกันกับเขา ใช้พระเดชอย่างพอดี ใช้พระคุณอย่างเหมาะสม และตัวเขาเองก็มีความสุขกับงานที่ทำอีกด้วย

        จากที่เขียนมาข้างต้นจะเห็นว่า ผู้นำที่บริหารทีมงานได้ดีนั้น ไม่ได้ยากจนเกินไป และไม่ได้ง่ายจนที่ใครก็สามารถทำได้ทันที ต้องมีการเรียนรู้ ฝึกฝน ใส่ใจ โดยเฉพาะภาวะผู้นำที่จะบริหารทีมงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น การทำความเข้าใจเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหาร 3 อย่างเพื่อพร้อมสำหรับการเป็นผู้นำที่สมบูรณ์แบบ นั่นคือ การบริหารตน (Managing Self) การบริหารคน (Managing People) และ บริหารงาน (Managing Tasks) และเมื่อได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจและฝึกฝนการบริหารทั้ง 3 อย่างได้เชี่ยวชาญแล้ว ก็จะกลายเป็น ผู้นำที่สมบูรณ์แบบได้อย่างแน่นอน  แล้วท่านผู้อ่านหละครับ  เป็นผู้นำแบบใด

แบบฟอร์มติดต่อกลับ

Visitors: 74,220