การคิดเชิงออกแบบเพื่อสร้างนวัตกรรมให้กับธุรกิจ  (Design Thinking for Business Innovation)

ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกระบวนการ Design Thinking หรือการคิดเชิงออกแบบกันก่อนนะคะ

Design Thinking เป็นกระบวนการที่มี 5 ขั้นตอน ได้แก่

  1. Empathize คือ การทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหรือผู้ใช้งานสินค้า/บริการนั้นๆ  โดยทำความเข้าใจปัญหาที่เขาประสบอยู่เพื่อให้เข้าถึงความต้องการ อารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมการใช้สินค้า/บริการ เพื่อให้ได้มาซึ่งปัญหาจริงๆ ของกลุ่มเป้าหมาย โดยคำว่า Empathize มาจากคำว่า Empathy ซึ่งแปลว่า การเอาใจใส่ เข้าอกเข้าใจ นั่นเอง
  2. Define หรือ การระบุประเด็นปัญหา  โดยหลังจากที่ทำความเข้าใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจากขั้นตอนข้างต้นแล้ว ต้องทำการระบุปัญหาที่ต้องการแก้ไขให้ชัดเจนและเป็นประเด็นปัญหาที่แท้จริงเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนถัดไป
  3. Ideate หรือการระดมความคิด เป็นการระดมสมอง เน้นปริมาณความคิดหรือปริมาณไอเดียให้ได้มากที่สุด โดยสนับสนุนให้คิดนอกกรอบ เน้นความคิดสร้างสรรค์ เสร็จแล้วจึงค่อยมาคัดเลือกไอเดียหรือความคิดที่จะนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหา
  4. Prototype หรือการสร้างต้นแบบอย่างง่าย โดยในขั้นตอนนี้เป็นการเอาความคิดหรือไอเดียที่คัดเลือกไว้แล้วจากขั้นตอน Ideate มาสร้างต้นแบบนวัตกรรมที่ใช้แก้ปัญหา  ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นการสร้างต้นแบบอย่างง่ายเพื่อทดสอบแนวคิด โดยนำไปทดสอบกับผู้ใช้ เพื่อเก็บข้อมูล feedback จากผู้ใช้ แล้วนำมาปรับปรุงก่อนสร้างผลิตภัณฑ์จริง โดยก่อนจะมีการทำผลิตภัณฑ์หรือสินค้าออกมาจริง อาจมีการทำ Prototype หลายครั้งเพื่อทดสอบ เก็บข้อมูลและ feedback จากกลุ่มผู้ใช้งานโดยขั้นตอนการทดสอบและเก็บข้อมูลจากผู้ใช้จะอยู่ในขั้นตอนถัดไป
  5. Test เป็นการทดสอบต้นแบบกับกลุ่มเป้าหมาย โดยเก็บข้อมูลที่ได้จากการ feedback  เพื่อเรียนรู้ แล้ววนกลับไปที่ขั้นตอนเริ่มต้น โดยอาจมีการวนหลายครั้ง จนกว่าจะได้ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ผลิตออกสู่ตลาดได้จริง

กระบวนการ Design thinking หรือกระบวนการคิดเชิงออกแบบเป็นกระบวนการที่ใช้ในการพัฒนานวัตกรรมที่มีใช้กันอยู่แล้ว  โดยหลักการที่สำคัญ คือ การให้ความสำคัญกับความต้องการของกลุ่มผู้ใช้หรือกลุ่มเป้าหมาย โดยยึดหลัก Human-Centered Design หรือการออกแบบโดยให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง มุ่งเน้นที่ลูกค้าเป็นสำคัญ แล้วระดมความคิดเพื่อค้นหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา เรียนรู้และลงมือทำเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานอย่างแท้จริง

 

บทความโดย ดร.รชวีย์ หล่อศรีศุภชัย

แบบฟอร์มติดต่อกลับ

Visitors: 74,312