การใช้การเรียนรู้จากการปฏิบัติเพื่อสร้างภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรม
(Action Learning for Innovative Leadership Development)

โดย ดร.รชวีย์ หล่อศรีศุภชัย

         ก่อนอื่น เรามาเรียนรู้กันก่อนว่า Action Learning ที่พวกเราเคยได้ยินมานั้น จริงๆแล้ว คืออะไร

         Action Learning คือการเรียนรู้จากการที่ได้ลงมือทำจริง โดยมากเป็นงานที่ผู้เรียนรู้จำต้องทำหรือแก้ปัญหาในงานนั้นๆอยู่แล้ว โดยผู้เรียนรู้นำปัญหาในงานนั้นมาเป็นโจทย์ในห้องเรียน และการแก้โจทย์นั้นจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องจนปัญหาได้แก้จนจบ ปัญหาที่นำเข้ามาเป็นโจทย์ในการเรียนรู้ต้องเป็นโจทย์ของจริงในองค์กร โดยมากมักเป็นโจทย์องค์กรที่เป็นปัญหาเรื้อรัง และมีความเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน

         Action Learning จึงเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่น่าสนใจ มีชีวิตชีวาเพราะในกระบวนการต้องอาศัยข้อเสนอแนะและการสะท้อนคิดจากสมาชิกทุกคนในกลุ่ม ไม่ใช่แค่นั่งฟังการสอนไปอย่างเดียว

         Action Learning จะทำกันในรูปแบบกลุ่ม คือ ไม่เกิน 8 คน เพื่อความมีประสิทธิภาพ โดยมากมักจะอยู่ที่ 5-8 คน และก็จะมีโค้ช 1 คนคอยเป็นพี่เลี้ยง กระตุ้นและแทรกแซงในวาระที่จะทำให้กลุ่มเกิดการเรียนรู้

ทีนี้มาดูองค์ประกอบของกลุ่ม Action Learning ว่าต้องมีอะไรบ้าง

องค์ประกอบของกลุ่ม Action Learning มี 6 องค์ประกอบดังนี้

  1. ปัญหา (Problem) ต้องเป็นปัญหาจริงขององค์กร ไม่ใช่ปัญหาที่จำลองขึ้นมา โดยปัญหาจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติโดยทำเป็นโครงการหรือโครงงาน
  2. กลุ่ม (Set of Group) คือ ในกลุ่มควรประกอบด้วยสมาชิก 5-8 คน ที่มาจากหลากหลายหน่วยงาน และมีความเกี่ยวข้องกับปัญหา
  3. กระบวนการซักถามและการสะท้อนมุมมอง (Questioning and Reflection) การซักถามมีความสำคัญต่อการดำเนินการตามแนวทางการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้จากการปฏิบัติ การซักถามในขณะพูดคุยจะก่อให้เกิดมุมมองหลากหลาย จากภาพปัญหาเดียวกัน
  4. แนวทางแก้ไข (Problem Solutions) การเรียนรู้ที่แท้จริงเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการกระทำ ทดสอบความคิด และข้อเสนอแนะ หากมีการสะท้อนมุมมองควบคู่กับการปฏิบัติจะสามารถเปลี่ยนแปลงและสร้างคุณค่าเพิ่มได้มากขึ้นในทุกโอกาสที่มีการเรียนรู้
  5. การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Continuous Learning) การไม่หยุดนิ่ง ไม่กระทำและใช้แนวทางเดิมๆ ที่เคยสำเร็จหรือได้ผล และต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจริงจังในทุกโอกาสที่เป็นไปได้
  6. ผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (Learning Coach) หรือโค้ช ประสิทธิภาพการดำเนินการการเรียนรู้จากการปฏิบัติจะเกิดผลสูงสุด โค้ช คือ คนที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ของกลุ่มที่ต้องคิดว่าทำไมถึงเกิด เกิดได้อย่างไร คิดเป็นระบบ โน้มน้าวได้ กระตุ้นให้พูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมอง กำหนดปัญหานำเข้าสู่การอภิปราย จำกัดแนวทางการพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อสรุป ให้ข้อมูลย้อนกลับ วางแผนการจัดระเบียบ ยึดมั่นร่วมกันผลักดันให้เกิดการปฏิบัติ เช่น การเรียนรู้เพื่อสร้างความสำเร็จที่ดีกว่าเดิม เป็นต้น

        และจากการที่ผู้เขียนได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาองค์กรแห่งหนึ่งในการสร้างภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรมผ่านการใช้การเรียนรู้จากการปฏิบัติ สามารถสรุปประเด็นในแง่ของการพัฒนาองค์กรและภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรมได้ดังนี้

  1. Action Learning สามารถเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างการจัดการความรู้ KM (Knowledge Management) ขึ้นในองค์กร
  2. Action Learning เป็นวิธีที่เหมาะกับคนไทย เพราะเป็นวิธีการที่ใช้สร้างสัมพันธ์ในกลุ่ม และเมื่อสมาชิกในกลุ่มเกิดความคุ้นเคยกัน จะทำให้เกิดการต่อยอดความคิดกันได้อย่างไหลลื่น เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และมีความสุขในการทำงานเพิ่มขึ้น
  3. Action Learning ทำให้เกิดการคิดวิเคราะห์ และการเรียนรู้จากการได้ขบคิดแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างลึกซึ้งโดยหาไม่ได้จากตำรา หากแต่เกิดจากประสบการณ์จริงในการทำงานเท่านั้น
  4. สมาชิกในกลุ่มเรียนรู้ที่จะสร้างการสื่อสารในเชิงบวก (non-defensive communication) และมุ่งเน้นในเรื่องของการพัฒนาช่วยเหลือกัน บนเป้าหมายเดียวกัน
  5. สร้างความตื่นตัวในการเรียนรู้และความอยากรู้อยากเห็น นำไปสู่การค้นคว้าหาคำตอบ
  6. กล้าเปิดโอกาสรับความเสี่ยงมากขึ้น
  7. สร้างให้สมาชิกในกลุ่มสนับสนุนและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (Supportive and collaborative)
  8. สร้างให้สมาชิกในกลุ่มเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ การคิดเชิงกลยุทธ์เพื่อการแก้ปัญหา
  9. สร้างให้สมาชิกในกลุ่มเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และสร้างแรงบันดาลใจให้ทีมงานก้าวไปสู่วิสัยทัศน์นั้น
  10. เน้นการลงมือปฏิบัติและการส่งเสริมทักษะการทำงานเป็นทีม

        แค่ 10 ข้อนี้ก็เกินคุ้มแล้ว สำหรับการที่องค์กรจะนำเอา Action Learning ไปใช้พัฒนาองค์กรและผู้นำ โดยโจทย์ที่ใช้สามารถเป็นประเด็นปัญหาในองค์กร หรือเป็นโครงการด้านนวัตกรรม ที่สำคัญคือ ต้องทำให้เกิดความยั่งยืนในองค์กรต่อไป

        สนใจการใช้ Action Learning ในการพัฒนาภาวะผู้นำในองค์กรอย่างจริงจัง โดยมีประสบการณ์การนำ Action Learning ไปใช้พัฒนาภาวะผู้นำเชิงนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กรอย่างได้ผลเป็นรูปธรรม สนใจโปรแกรมการพัฒนาภาวะผู้นำผ่านกระบวนการ Action Learning กรุณาติดต่อ Innovatist Training and Consultants

แบบฟอร์มติดต่อกลับ

Visitors: 74,213